ทำรากฟันเทียมที่ไหนดี?

  • ประสบการณ์ทำรากฟันเทียมครั้งแรกในชีวิต ของคุณหยา (นักแสดง/อาจารย์) 
  • จุดที่คนส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับการทำรากฟันเทียม มีหลายๆด้าน เช่น ด้านจิตใจ ด้านมาตรฐานการรักษา ด้านค่าใช้จ่าย ด้านการใช้งาน เป็นต้น
  • เลือกอย่างไร? ถึงไม่ผิดหวัง….ถ้าเป็นเรา เราคงเริ่มมองและสำรวจความรู้สึกแรกของตัวเองจากการรู้จักคลินิกนั้นก่อน ว่าเกิดความประทับใจแรก หรือไม่? มีอะไรที่ทำให้เราต้องฉุกคิด หรือ ต้องได้รับการอธิบายเพิ่มเติมในครั้งแรกหรือไม่?
  • ต่อมาเมื่อเดินเข้ามาในคลินิกแล้วให้มองดู ความสะอาดทั้งภายในและนอกห้องตรวจ โดยรวมถึงวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้งาน ความเป็นมืออาชีพในการปฏิบัติงาน/ หรือความเชี่ยวชาญในการทำงานของบุคคลากรที่ได้เห็นต่อหน้า
  • แพทย์มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือมีความพร้อมที่จะให้การรักษาเราหรือไม่ นอกจากนั้นยังต้องดูถึงความใส่ใจในการรักษาแต่ละขั้นตอนด้วย (ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้)

รากฟันเทียม คืออะไร?

รากฟันที่ทำจากโลหะไทเทเนียม ใช้ทดแทนรากฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป สามารถเข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อและกระดูกของร่างกาย โดยนำมาใช้ร่วมกับฟันปลอม หรือฝังรากฟันเทียมร่วมกับการครอบฟัน ให้ความรู้สึกใกล้เคียงฟันธรรมชาติ เป็นวิธีที่ทันตแพทย์ใช้รักษามานานกว่า 30 ปี ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพ และคงทนที่สุดในหมู่วิธีการทดแทนฟันทั้งหมด นอกจากนี้ ยังพบว่าการฝังรากฟันเทียมเป็นทางออกเดียวของการรักษาที่คงความสามารถสำคัญของฟันและโครงสร้างฟันได้ อย่างไรก็ตาม อายุการใช้งานของรากฟันเทียมขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาความสะอาดในช่องปาก ผู้ที่ฝังรากเทียมควรมีสุขภาพช่องปากที่ดี และดูแลสุขภาพช่องปากเป็นอย่างดี

รากฟันเทียม (Dental Implant) เป็นทางออกของสำหรับผู้ที่สูญเสียฟันเเท้ไป รากฟันเทียมเป็นทั้งการรักษาสุขภาพฟันให้เเข็งเเรงและยังเป็นทันตกรรมการทำรากฟันเทียม    เป็นมาตรฐานการรักษาฟันที่หายไปที่ได้รับความนิยมเพราะรากฟันสามารถใช้งานในระยะยาว และยังมีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่ง คนไข้มีความสุขการรับประทานอาหารได้        อย่างไม่ติดขัด มีการดูแลทำความสะอาดที่แสนง่ายเหมือนกันฟันแท้ของเรา

ประโยชน์ของรากฟันเทียม

  1. ใช้ทดแทนฟันแท้ที่ถอนไป
  2. เป็นหลักยึดให้กับสะพานฟัน เพื่อลดการใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้
  3. เป็นหลักยึดฟันปลอมทั้งปาก ทั้งฟันบนและฟันล่าง เพื่อให้เสถียรภาพและความสะดวกในการใช้งาน
  4. ลดการบาดเจ็บและสูญเสียเนื้อฟันจากการกรอแต่งฟันในตำแหน่งข้างเคียงช่องว่างที่จะใส่ฟันปลอมหรือฟันที่ต้องรับตะขอ
  5. ลดการละลายของสันกระดูกในบริเวณที่จะใส่ฟัน
  6. ส่งเสริมสุขภาพช่องปากในกรณีที่ต้องใส่ฟันปลอม

อยากทำรากฟันเทียมต้องมีข้อบ่งชี้อะไรบ้าง

  1. สันเหงือกมีช่องว่างตั้งแต่ 1 ซี่ขึ้นไป และมีความหนาของกระดูกเพียงพอ
  2. เป็นผู้ที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวที่มีผลต่อการสร้างกระดูก และเนื้อเยื่อ เช่น เบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ภาวะกระดูกพรุน มีโรคทางกระดูก    รับประทานยากดการสร้างกระดูก ยาป้องกันการละลายของกระดูก โรคทางโลหิตวิทยา อยู่ในระหว่างให้เคมีบำบัด เคยได้รับรังสีรักษาบริเวณใบหน้า เป็นต้น
  3. เป็นผู้ที่มีสุขภาพช่องปากแข็งแรง และมีสุขอนามัยภายในช่องปากที่ดี ไม่มีโรคปริทันต์อักเสบ
  4. ต้องไม่มีสุขนิสัยที่ไม่ดีต่อฟัน เช่น นอนกัดฟันอย่างรุนแรง ชอบรับประทานของแข็งมาก ๆ เป็นต้น
  5. เป็นผู้ไม่สูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้ผลสำเร็จของการรักษาต่ำมาก

สารบัญ

ส่วนประกอบรากฟันเทียมมีอะไรบ้าง

  • ตัวเชื่อมต่อยึดฟันเทียม (Abutment screw) คือส่วนฐานในฟันเทียม สำหรับรองรับหัวหมุนของตัวเชื่อมยึดรากเทียม
  • ตัวเชื่อมยึดรากเทียม (Equator abutment) คือ ส่วนเชื่อมต่อระหว่างตัวรากเทียม และส่วนของฟันเทียม ทำหน้าที่ยึดต่อหรือถ่ายทอดแรงระหว่างทั้งสองส่วน
  • ตัวรากเทียม (Implant Body Or Fixture) คือ ส่วนของรากฟันเทียมที่ฝังในกระดูกขากรรไกร ทำหน้าที่แทนรากฟัน

ทางเลือกในการรักษา

  1. กรณีมีความกลัว วิตกกังวลในการผ่าตัดโดยการใช้ยาชาเฉพาะที่ สามารถแจ้งทันตแพทย์ให้ใช้วิธีการดมยาสลบแทนได้
  2. กรณีไม่ต้องการฝังรากเทียม แนะนำให้ใส่ฟันปลอมชนิดอื่นทดแทน เช่น การทำสะพานฟันติดแน่น หรือการใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ เป็นต้น

การเตรียมตัวก่อนทำรากฟันเทียม

  1. ควรมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง รับประทานอาหารและนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
  2. ผู้ที่มีโรคประจำตัว มียารับประทานประจำ ควรรับประทานอาหารและยาตามปกติ
  3. ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่อาจมีผลต่อการรักษา ควรได้รับความเห็นชอบในการรักษาจากแพทย์ก่อนและเตรียมตัวให้พร้อมรับการรักษา เช่น ผู้ที่มีโรคทางโลหิตวิทยา ผู้ที่รับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่อยู่ในระหว่างการให้เคมีบำบัดหรือฉายรังสีรักษา ผู้ที่อยู่ในภาวะวิกฤต เป็นต้น
  4. ผู้ที่เป็นโรคหัวใจรุนแรง ผู้ที่ใส่อวัยวะเทียม เช่น ลิ้นหัวใจ ข้อเข่าเทียม (ภายใน 1 ปีแรก) ผู้ที่หลอดเลือดดำอุดตัน จะต้องรับประทานยาปฏิชีวนะก่อนการรักษา 1 ชั่วโมง
  5. ผู้ที่รับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น วาฟาริน (warfarin) หรือมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ จะได้รับการเจาะเลือดตรวจค่าการแข็งตัวของเลือดก่อน เพื่อให้ทันตแพทย์พิจารณาว่าเหมาะสมที่จะผ่าตัดได้หรือไม่
  6. ในผู้ที่วิตกกังวลสูงหรือผู้ที่ไม่สามารถให้ความร่วมมือในการรักษาอาจพิจารณาทำการรักษาภายใต้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย       
  7. ในวันที่มารับการรักษาจะได้รับการซักประวัติด้านสุขภาพอีกครั้ง ควรให้ข้อมูลด้านสุขภาพของตนเองอย่างถูกต้องและครบถ้วน โดยเฉพาะปัญหาที่เคยเกิดขึ้นเมื่อได้รับการผ่าตัด ปัญหาการหยุดไหลของเลือด โรคประจำตัว รวมถึงการแพ้อาหารและยาประเภทต่าง ๆ เป็นต้น
  8. ผู้เข้ารับการรักษาจะได้รับการวัดความดันโลหิต ค่าที่วัดได้ ไม่ควรต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท และไม่ควรสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท อาจผ่อนผันให้ถึง 160/90 มิลลิเมตรปรอทในผู้สูงอายุ หรือกรณีปวดฟันมาก ความดันโลหิตอาจขึ้นสูงได้ หรือในผู้ป่วยบางรายที่มีความดันโลหิตต่ำตามที่แพทย์ยอมรับได้จะได้รับการผ่าตัด

ขั้นตอนการรักษา

  1. ทันตแพทย์วางแผนการรักษาโดยพิมพ์แบบฟันเพื่อออกแบบฟันปลอมและกำหนดตำแหน่งที่จะฝังรากฟันเทียม ตรวจลักษณะสันเหงือกและถ่ายภาพรังสีเพื่อใช้ประเมินปริมาณของกระดูกที่มีอยู่ ซึ่งปริมาณกระดูกจะเป็นตัวกำหนดขนาดของรากฟันเทียม เมื่อทันตแพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาเสร็จแล้ว  จะทำการยืนยันแผนการรักษากับผู้ป่วย โดยระบุตำแหน่งฟันที่จะผ่าตัดให้ชัดเจน แจ้งค่าใช้จ่ายโดยประมาณ และทำการเซ็นใบยินยอมรับการรักษา
  2. การผ่าตัดระยะที่ 1 ฝังรากฟันเทียมภายใต้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่ หรือภายใต้ยาระงับความรู้สึกทั้งร่างกายเปิดแผลกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ฝังรากฟันเทียมแล้วเย็บแผลปิด หรืออาจใส่หมุดสร้างรูปร่างเหงือกโดยหมุดจะโผล่ขึ้นมาเหนือเหงือกเล็กน้อยในกรณีฝังรากเทียมในตำแหน่งที่มีกระดูกและเนื้อเหงือกแน่นเพียงพอ ส่งถ่ายภาพรังสีเพื่อประเมินผลการรักษา ภายหลังการรักษา 1 สัปดาห์ มารับการตัดไหมและประเมินแผลผ่าตัด ติดตามผลการรักษาโดยการถ่ายภาพรังสีหลังผ่าตัด 2 เดือนในกรณีฝังรากเทียมเพียงอย่างเดียว 3, 6 เดือนในกรณีฝังรากเทียมร่วมกับการปลูกกระดูก
  3. การผ่าตัดระยะที่ 2 ห่างจากระยะที่ 1 ประมาณ 2 เดือน แต่ถ้ามีการปลูกกระดูกร่วมด้วยจะมีระยะห่าง 4 – 6 เดือนขึ้นอยู่กับชนิดของกระดูกที่เลือกใช้ การผ่าตัดเป็นการสร้างรูปร่างของเหงือก ทำการผ่าตัดใส่เครื่องมือภายใต้ยาชาเฉพาะที่ ขนาดแผลประมาณ 1 เซนติเมตร ตัดไหมหลังการผ่าตัด 1 – 2 สัปดาห์ ถ้าตรวจพบว่าเหงือกชนิดยึดเกาะมีน้อย อาจต้องนำเนื้อจากบริเวณเพดานปากมาปลูกร่วมด้วย
  4. การใส่ฟันปลอม จะเริ่มภายหลังการสร้างรูปร่างของเหงือกประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะได้รับการพิมพ์ปากเพื่อส่งแบบไปทำฟันปลอม หลังจากนั้นประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ จะเปลี่ยนหมุดสร้างรูปร่างสันเหงือกเป็นเดือยต่อขึ้นมาจากรากฟันเทียมและทำการใส่ฟันปลอมตามแบบที่วางแผนการรักษาไว้
  5. การติดตามผลการรักษา ใช้วิธีตรวจภายในช่องปากและการถ่ายภาพรังสี เป็นระยะ 3, 6, 12 เดือนและทุกปี ๆ ละ 1 ครั้งในช่วง 1 ปีแรกจะมีการละลายของกระดูกรอบ ๆ รากฟันเทียมประมาณ 1 มิลลิเมตรและประมาณ 0.2 มิลลิเมตร ในปีต่อ ๆ มาได้ ถ้ามีการละลายของกระดูกอยู่ในเกณฑ์ตามที่กล่าวมาถือว่าประสบความสำเร็จในการรักษา

ข้อดีของตัวรากฟันเทียม

  1. ไม่มีการทำอันตรายต่อฟันและเหงือกในบริเวณข้างเคียง
  2. ลดการละลายของสันกระดูกที่รองรับฟันปลอม
  3. ง่ายต่อการทำความสะอาดช่องปาก ทำให้มีสุขภาพช่องปากที่ดี
  4. เกิดความสะดวกสบายในการบดเคี้ยวหรือออกเสียงพูด
  5. มีความมั่นใจในการพูด ยิ้ม เสริมให้มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น
  6. มีอายุการใช้งานยาวนานเมื่อเทียบกับการใช้ฟันปลอมชนิดอื่น ๆ (กรณีที่ผู้ป่วยไม่มีโรคประจำตัว และไม่สูบบุหรี่)

ข้อจำกัดของรากฟันเทียม

  1. อาจมีความเจ็บปวด และเกิดความเครียดขณะรับการรักษา ในกรณีที่มีความเจ็บปวดมาก ทันตแพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่ระงับความเจ็บปวดเพิ่มเติม
  2. มีการรักษาหลายขั้นตอน ใช้เวลานานประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ต้องปลูกกระดูกบริเวณที่ต้องผ่าตัด
  3. กรณีที่มีปัญหาภายหลังการรักษา มักจะต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด
  4. การรักษาขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น สุขภาพช่องปาก ลักษณะของเนื้อเยื่อ การหายของแผล โรคประจำตัว ลักษณะนิสัยในการบดเคี้ยว เป็นต้น ซึ่งการรักษาอาจไม่สำเร็จได้

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดหลังผ่าตัด

  1. หลังผ่าตัด อาจเจ็บปวดและไม่สบาย นอกจากเกิดจากแผลแล้วยังขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ป่วย โดยทั่วไปความเจ็บปวดจะไม่รุนแรง ปรากฏอยู่ประมาณ 12 ชั่วโมง และลดระดับลงเรื่อย ๆ ไม่เกิน 5 วัน การรับประทานยาแก้ปวดสามารถลดอาการปวดได้
  2. อาการบวม เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของเนื้อเยื่อต่อภยันตรายที่เกิดขึ้น ยิ่งเกิดมากเท่าใดการบวมจะมากขึ้นเท่านั้น กรณีผ่าตัดอาการบวมจะมากที่สุดในเวลา 48 – 72 ชั่วโมงหลังผ่าตัด ถ้าการบวมเกิดขึ้นหลังวันที่ 3 ของการผ่าตัด ควรนึกถึงภาวะติดเชื้อมากกว่าการบวมจากการผ่าตัด การใช้น้ำแข็งหรือผ้าเย็นประคบข้างแก้มบริเวณที่ผ่าตัดทันทีในวันแรกที่ผ่าตัด 24 ชั่วโมง จะช่วยให้บวมน้อยลง
  3. อาการติดเชื้อหลังผ่าตัด มักพบในผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ ทันตแพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อไว้ก่อน แต่ถ้ามีอาการติดเชื้อ ปวด บวม แดง มีหนอง เป็นไข้ แนะนำให้กลับมาพบทันตแพทย์อีกครั้ง
  4. มีเลือดออกมากผิดปกติ หรือมีเลือดออกซ้ำหลังจากผ่าตัดไปหลายวัน การป้องกัน คือ ควรกัดผ้าก๊อซให้แน่นอย่างน้อย 1 – 2 ชั่วโมงหลังผ่าตัด งดสูบบุหรี่ บ้วนปาก เพราะทำให้มีเลือดออกจากแผลผ่าตัดได้ เมื่อเลือดหยุดดีแล้ว งดเคี้ยวอาหารด้านที่ผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ถ้ามีเลือดออกมากหรือมีเลือดออกซ้ำหลังผ่าตัดหลายวันให้กัดผ้าก๊อส 1 – 2 ชั่วโมง ถ้าเลือดยังไม่หยุดหรือระหว่างกัดผ้าก๊อซเลือดยังออกมาก ให้รีบกลับมาพบทันตแพทย์ทันที
  5. กรณีผ่าตัดบริเวณกรามน้อยบนหรือฟันกรามบนอาจทะลุโพรงอากาศ (ไซนัส) หรือกรณีต้องปลูกกระดูกร่วมด้วยอาจพบอาการปวดตึง ๆ ที่โหนกแก้มระคายเคืองและมีน้ำมูกประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ มีเลือดดำ ๆ ไหลลงคอได้ในช่วงสัปดาห์แรก การเดินทางด้วยเครื่องบินอาจมีแรงดันทำให้มีอาการปวด ถ้าในระยะยาวยังมีอาการปวดรุนแรงอาจพบการติดเชื้อในโพรงอากาศได้ ถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบกลับมานัดหมายทันที บางกรณีอาจต้องให้การรักษาร่วมกับแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก
  6. แผลผ่าตัดหายช้า หรือมีเศษกระดูกโผล่ มักพบได้ในผู้ที่มีโรคประจำตัวที่มีผลต่อการหายของแผลหรือผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมักจะกลับมาด้วยอาการปวดแผล เขี่ยแผลแล้วเจ็บแปล๊บ ๆ หรือรู้สึกมีอะไรคม ๆ บาดลิ้นเป็นต้น
  7. อาจพบรอยเซาะของเลือดจากแผลมาที่ผิวหน้าและบริเวณใกล้เคียงกับที่ผ่าตัด  ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ  ผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด หรือผู้ป่วยโรคเลือด รอยเลือดดังกล่าวจะค่อย ๆ จางไปภายใน 2 – 3 สัปดาห์
  8. การอ้าปากได้จำกัด เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อที่ใช้บดเคี้ยว หรือเกิดจากการฉีดยาชาเพื่อสกัดเส้นประสาทจะผ่านกล้ามเนื้อที่ควบคุมการอ้าปากหุบปาก อีกกรณีคือผู้ป่วยมีความกังวลมาก การรักษาฝึกให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัด โดยพยายามอ้าปาก ใช้นิ้วมือหรือไม้กดลิ้นง้างปากค้างไว้ 2 นาทีแล้วผ่อนลง ทำบ่อย ๆ ร่วมกับการใช้น้ำอุ่นประคบข้างแก้มและหน้าหู ระยะปกติในผู้ใหญ่สามารถอ้าปากได้ประมาณ 3 เซนติเมตรเมื่อวัดจากปลายฟันหน้าบนและฟันหน้าล่าง
  9. อาจพบอาการชาที่ริมฝีปากได้ โดยเฉพาะริมฝีปากล่าง เนื่องจากปลายรากฟันอยู่ใกล้ชิดกับเส้นประสาทรับความรู้สึกของขากรรไกรล่างและริมฝีปาก สังเกตโดยหลังผ่าตัดไป 4 – 5 ชั่วโมงแล้ว อาการชาที่ริมฝีปากไม่ลดลง อาการดังกล่าวจะค่อย ๆ ดีขึ้นใน 3 – 6 เดือน ผู้ที่มีอาการชาควรระมัดระวังในการเคี้ยว เพราะอาจกัดริมฝีปากได้โดยไม่รู้ตัว ถ้าชามาก ๆ อาจต้องกลืนน้ำลายบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้น้ำลายไหลออกมานอกช่องปาก ริมฝีปากจะเป็นส่วนแรกที่กลับมารับความรู้สึกได้ปกติก่อน โดยจะมีอาการนำ เช่น เจ็บแปล็บ ๆ เป็นบางครั้งได้  ในบางรายอาการชาจะหลงเหลืออยู่เป็นเวลานานแต่จะเป็นแค่บริเวณเล็ก ๆ ที่คางได้
  10.  เกิดแผลที่ริมฝีปากจากกการกัดในระหว่างที่ยาชายังไม่หมดฤทธิ์
  11. การฝังรากฟันเทียมจะมีการยึดเกาะของรากเทียม และส่วนต่อยอดที่เป็นหมุดสร้างรูปร่างเหงือก หรือส่วนต่อของครอบฟันด้วยสกรูเทคนิค ซึ่งอาจจะมีการคลายเกลียวของสกรูจากแรงต่าง ๆ ที่ไปกระทบ เช่น การแปรงฟัน การเคี้ยวอาหาร เป็นต้น ถ้าสกรูหลวมให้รีบกลับมาไขทันที เพราะถ้าปล่อยไว้ส่วนต่อยอดอาจหลุดและกลืนลงคอได้ หรือถ้าทิ้งไว้หลายวัน เนื้อเหงือกแน่นรอบรากเทียมจะหดตัว ต้องผ่าตัดรากเทียมระยะที่ 2 ซ้ำอีกครั้ง รอ 2 สัปดาห์จึงกลับมาใส่ฟันอีกครั้ง กรณีหมุดหรือครอบฟันกลืนลงคอ ควรได้รับการส่งตรวจประเมิน ถ่ายภาพทางรังสีกับแพทย์เป็นระยะจนถ่ายออกมาตามปกติ ส่วนต่อยอดจะมีลักษณะเดือยแหลมอาจมีการบาดเจ็บหรือติดเชื้อที่ลำไส้ได้ กรณีหลุดลงหลอดลมจะต้องพบแพทย์เพื่อดมยาและคีบส่วนต่อยอดออกมา
  12. มีการอักเสบรอบ ๆ รากฟันเทียมภายหลังการใส่ฟันปลอม ซึ่งเกิดเนื่องจากบริเวณรอบ ๆ ฟันปลอมไม่ได้รับการทำความสะอาดที่ดีพอ เป็นผลให้มีการละลายของกระดูกรอบ ๆ รากฟันเทียม เหงือกร่น และรากฟันเทียมโผล่มาให้เห็นในช่องปากได้
  13. กรณีมาตรวจพบภายหลังว่ามีโรคที่มีผลต่อกระดูก โรคทางโลหิตวิทยา รับประทานยาที่มีผลต่อการสร้างกระดูก อาจพบภาวะการยึดเกาะของรากเทียมกับกระดูกมีปัญหา รากเทียมอาจโยกหลุดได้
  14. ปัจจัยที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการรักษามีมากมาย ถึงแม้ว่าทันตแพทย์จะประเมินและวางแผนการรักษาเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม แต่ทันตแพทย์ไม่สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกที่จะเกิดขึ้นได้ จึงทำให้การรักษาที่กำหนดไว้อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ ปัจจัยภายนอก เช่น การเสื่อมของกระดูก การดูแลสุขภาพช่องปากของผู้ป่วย สุขภาพในระหว่างการรักษา อาจติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ การติดเชื้อที่กระดูกภายหลังผ่าตัด การเริ่มรับประทานยาบางประเภทที่มีผลต่อกระดูก การได้รับเคมีบำบัด การได้รับรังสีรักษา หรือการเป็นโรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน เป็นต้น

คำแนะนำภายหลังการรักษา

  1. กัดผ้าก๊อซนาน 1 – 2 ชั่วโมง กลืนน้ำลายตามปกติ
  2. คายผ้าก๊อซหลังกัดผ้า 1 – 2 ชั่วโมง ถ้ายังมีเลือดซึม ให้ใช้ผ้าก๊อซที่สะอาดกัดใหม่อีกประมาณ 1 ชั่วโมง
  3. อาจประคบด้วยน้ำแข็งภายนอก บริเวณแก้มข้างที่ทำการผ่าตัด 1 – 2 วัน
  4. รับประทานอาหารอ่อน หลังอาหารให้บ้วนน้ำเบา ๆ ช่วง 3 วันแรก หลังจากนั้นบ้วนน้ำตามปกติ
  5. รับประทานยาให้ครบตามที่ทันตแพทย์สั่ง
  6. แปรงฟันตามปกติ ยกเว้นตำแหน่งที่ฝังรากเทียมให้ใช้น้ำยาบ้วนปากที่แพทย์จ่ายให้ 1 – 2 สัปดาห์
  7. ตัดไหมได้ภายหลังการผ่าตัด 7 – 14 วัน
  8. กรณีผ่าตัดหรือมีรูทะลุโพรงอากาศ (ไซนัส) ให้งดการบ้วนน้ำรุนแรง กรณีไอ จาม ให้อ้าปากกว้าง เพื่อลดแรงดัน งดสั่งน้ำมูก ให้ซับ ๆ เพียงอย่างเดียว และงดว่ายน้ำ 4 เดือน
  9. กรณีฝังรากเทียมร่วมกับมีส่วนต่อของหมุดสร้างรูปร่างเหงือกหรือครอบฟันแล้ว ต้องสังเกตหมุดหรือครอบฟันมีการขยับหรือไม่ ซึ่งอาจจะหลวมหลุดได้ ถ้าหลวมให้ติดต่อกลับมาเพื่อรับการไขให้แน่นทันที
  10. ในระหว่างรอการยึดเกาะของรากเทียม หรือหลังการรักษาเสร็จแล้ว มีอาการเจ็บ เหงือกบวม ให้รีบติดต่อมาเพื่อรับการรักษาทันที
  11. หากมีปัญหาหรือผลแทรกซ้อนเกิดขึ้น ให้กลับมาพบทันตแพทย์ได้ก่อนวันนัดหมาย โทรติดต่อนัดหมายที่ศูนย์บริการลูกค้า โทร. 065-165-5556 หรือ Line: @Umedental

ข้อห้าม (หากฝ่าฝืนอาจทำให้เลือดไหลไม่หยุดได้)

  1. ห้ามดูดแผล หรือเอานิ้วและวัสดุใด ๆ เขี่ยแผล
  2. ห้ามบ้วนน้ำลายภายหลังการทำการผ่าตัด ภายใน 1 – 2 ชั่วโมง
  3. ห้ามสูบบุหรี่ กินหมาก และดื่มสุรา ภายใน 24 ชั่วโมง
  4. ห้ามออกกำลังกาย ภายใน 24 ชั่วโมง ในผู้มีภาวะเสี่ยงควรงดออกกำลังกาย 5 – 7 วันหลังผ่าตัด
  5. ห้ามใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์ หรือบ้วนน้ำแรง ๆ หลังผ่าตัด 3 วัน

วิธีการประเมินภาวะการแข็งตัวของเลือด

ระยะเวลาปกติที่เกิดจากการแข็งตัวของเลือดจนเลือดหยุดไหลประมาณ 7 – 10 นาที หลังจากทำการกดแผลเพื่อห้ามเลือด และเลือดจะแข็งตัวเต็มที่ประมาณ 2 ชั่วโมง แต่กรณีมีบาดแผลในช่องปาก จะเป็นแผลเปิดที่มีน้ำลายมาสัมผัสตลอดเวลา ทำให้มีเลือดออกได้นานกว่าปกติ ดังนั้นควรทราบวิธีการประเมินภาวะการแข็งตัวของเลือด ดังนี้

     1. มีเลือดออก ให้กัดผ้าก๊อซนาน 10 – 15 นาที ถ้าเลือดไม่ชุ่มจนออกนอกผ้าก๊อซ แสดงว่าภาวะการแข็งตัวของเลือดปกติ ให้กัดผ้าก๊อซจนครบ 1 ชั่วโมง

     2. เมื่อกัดผ้าก๊อซครบ 1 ชั่วโมง ทำการประเมินอีกครั้ง โดยคายผ้าทิ้ง รอดูว่าในช่องปากมีเลือดออกมาอีกหรือไม่ใน 10 นาที ถ้ายังมีเลือดซึมออกมา ให้กัดผ้าก๊อซต่ออีก 1 ชั่วโมงแล้วประเมินอีกครั้ง ผ้าก๊อซที่กัดต้องไม่ชุ่มเลือด หรืออาจมีส่วนของผ้าที่ยังมีสีขาวอยู่ และภายใน 10 นาทีหลังประเมินไม่พบเลือดออกอีก แสดงว่าเลือดหยุดได้ดี

     3. ถ้าหลังกัดผ้าก๊อซแล้ว 15 นาที ยังรู้สึกว่ามีเลือดออกมากเป็นลิ่ม ถ้ามีปัญหาเลือดออกในช่วงเวลา 7:00 – 20:00 น. ให้พบทันตแพทย์ที่ศูนย์ทันตกรรม หรือนอกเวลาทำการให้พบแพทย์ที่คลินิกผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยโทรแจ้งที่เบอร์ 1474

การรักษาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

  1.  การปลูกกระดูกในบริเวณต่าง ๆ เช่น ที่สันเหงือก หรือบริเวณโพรงอากาศแมกซิลลา โดยใช้กระดูกมาจากบริเวณขากรรไกร สะโพก หรือจะเป็นกระดูกเทียมขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพของกระดูกที่ต้องการ ซึ่งการปลูกกระดูกจะกระทำต่อเมื่อบริเวณที่จะฝังรากฟันเทียมมีปริมาณกระดูกไม่เพียงพอ หลังการผ่าตัดปลูกกระดูก 4 – 6 เดือน จึงจะฝังรากฟันเทียมได้
  2. การปลูกเนื้อเยื่อ ใช้ในกรณีที่มีเนื้อเหงือกไม่เพียงพอ ต้องนำเหงือกจากบริเวณเพดานปากมาปลูก หลังปลูกเหงือก 6 – 8 สัปดาห์ จึงฝังรากฟันเทียมได้ หรืออาจทำร่วมกับการผ่าตัดรากเทียมระยะที่ 2 ได้

ที่มา :

  1. https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/dental-implant

 

ทันตแพทย์ประจำของเรา

Scroll to Top